สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกระแสความฮือฮาเกี่ยวกับการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในประเทศไทยที่จะสามารถมาเสริมแกร่งการเป็นฐานผลิตและฐานการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพราะลิเทียมนับเป็นแร่สำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดในยานยนต์ “อีวี”
อย่างไรก็ตาม นอกจากลิเทียมแล้ว ในอีกด้านหนึ่งได้มีการพัฒนางานวิจัยแบตเตอรี่โซเดียมไอออน สำหรับพัฒนาวัตถุดิบที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วมาผลิตแบตเตอรี่แทน “ลิเทียม” ซึ่งเป็นแร่ที่ประเทศไทยไม่เคยมี จนประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ปี 2565 แล้ว “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง” อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงานนวัตกรรมนี้
ดร.นงลักษณ์ กล่าวว่า โครงการวิจัยเสร็จแล้ว แต่การที่จะไปใช้เชิงพาณิชย์มีเรื่องของการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ ต้องมีผู้ร่วมทุน ไม่ใช่แค่ให้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ดำเนินการ “การผลิตแบตเตอรี่ทดสอบอยู่ตลอด เรารู้ว่ากระบวนการผลิตทำยังไง เราสามารถผลิตแบตเตอรี่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศเรากำหนดได้ สามารถเอาไปทดสอบการใช้งานในยานยนต์ไฟฟ้าได้ หรือในระบบกักเก็บพลังงานก็ได้”
เทียบโซเดียมไอออน-ลิเทียม
หากเทียระหว่างโซเดียม ไอออน และลิเทียม คงต้องบอกว่า จริง ๆ แล้วแบตเตอรี่สองชนิดมีความใกล้เคียงกันมากที่สุดในการนำมาใช้งาน แบตเตอรี่มีหลายประเภท แต่คนรู้จักลิเทียมไอออนมานาน เพราะใช้ในโทรศัพท์มือถือ หรือใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มาก่อนนานแล้ว แต่มีข้อจำกัดบางเรื่อง “แหล่งแร่” ที่ประเทศไทยไม่มีในขณะนั้น จึงจำเป็นต้องหา Alternative System ซึ่งโซเดียมก็เป็นตัวที่ใกล้เคียงที่สุดที่จะใช้ทดแทน ตอนนี้อาจมีหนึ่งเจ้าที่ตั้งโรงงานขนาดใหญ่ นั่นคือ BYD แต่ผลิตที่ต่างประเทศ
“ถ้าเทียบราคาในสเกลการผลิตขนาดใหญ่เท่ากัน พบว่าแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจะมีราคาถูกกว่า เพราะโดยส่วนใหญ่ราคาของแบตเตอรี่นั้นจะถูกกำหนดด้วยวัตถุดิบ เรามีวัตถุดิบก็จะราคาถูกกว่า 40-50% ต่ำกว่าลิเทียมไอออนซึ่งก็คือครึ่งต่อครึ่ง”
แหล่งโซเดียมคือเหมืองโพแทช
ดร.นงลักษณ์ กล่าวต่อว่า เหมืองแร่โพแตชจะได้สายแร่โซเดียม ซึ่งขึ้นกับว่าแหล่งแร่ไหนที่มีอะไรเยอะ เช่น แหล่งที่มีโซเดียมเยอะจะใช้แร่นั้นเป็นหลัก ที่ได้ระดับรองลงมาจะเป็นบายโปรดักต์ เช่น เหมืองแร่โพแทชที่โคราชจะมีโซเดียมเป็นหลัก ขึ้นมาทางอีสานบนอย่างสกลนครหรืออุดรธานี หลักเป็นโพแทช ส่วนโซเดียมเป็น by Product การดึงแร่โซเดียมออกมาใช้สามารถทำได้เลย
ปริมาณแร่โซเดียมสำรอง
ตัวเลขกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ (กพร.) ระบุว่า แหล่งแร่สำรองที่เป็นแหล่งแร่เกลือหินมี 18 ล้านล้านตัน ปริมาณเยอะขนาดนี้สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้หลาย 100 ปีก็ไม่หมด แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงแค่การสำรวจเท่านั้น เพราะประเทศไทยมีการขุดเชิงพาณิชย์เพียงแค่ที่เดียว คือที่นครราชสีมา ซึ่งนำโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือมาเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมเคมี เช่น ทำกระจก และโซเดียมคลอไรด์อยู่ในอุตสาหกรรมเคมีหลายตัว เพราะเป็นสารตั้งต้นของโซดาไฟ
“เรามองว่าขยายโรงงานไปที่อีสานทำได้ แต่ว่าต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน แล้วก็ให้ประโยชน์กับชาวบ้านด้วย เพราะว่าพวกนี้มันก็เป็นทรัพยากรของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลกที่มีคุณภาพสูงกันเป็นข้อมูลจาก กพร.”
เทียบความปลอดภัย
หลายคนอาจจะพูดว่าลิเทียมไอออนแบตเตอรี่ คือตัวที่ติดไฟ เมื่อโดนน้ำคือ “โลหะลิเทียม” ถ้าเราใช้งานแบตเตอรี่ไม่มีโลหะลิเทียมอยู่ก็ไม่สามารถติดไฟได้ ซึ่งในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เราจะใช้สิ่งที่เรียกว่า “สารประกอบลิเทียม” ซึ่งตัวสารไม่ติดไฟ เพราะไม่ใช่โลหะลิเทียม แบตเตอรี่ที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่ใช้โลหะลิเทียม แต่จะใช้สารประกอบลิเทียม ส่วนใหญ่ที่เกิดไฟไหม้นั้นเกิดจากการใช้งานผิดประเภทมากกว่า
ส่วนโซเดียมไอออนจะมีข้อจำกัดใกล้เคียง แต่ว่าความรุนแรงน้อยกว่า เทียบโซเดียมไอออนกับลิเทียมไอออนนั้น พลังงานที่สะสมอยู่ในก้อนเล็ก ๆ ของโซเดียมอาจน้อยกว่า เลยทำให้ถ้าเกิดอุบัติเหตุความรุนแรงก็จะน้อยกว่า คนก็เลยจะชอบพูดว่า โซเดียมไอออนปลอดภัยกว่า รวมถึงอุณหภูมิที่ติดไฟก็จะต่ำกว่ามาก ซึ่งเทียบเปอร์เซ็นต์ความปลอดภัยนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด เพราะว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนก็มีหลายประเภท
“สำรวจแร่ลิเทียมเป็นเรื่องดี แต่ว่าตอนนี้คือความคุ้มค่าคุ้มทุนของการตั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือทรัพยากรขนาดนี้เราอาจจะตั้งคำถามว่า คุ้มหรือเปล่าที่จะมาตั้งอุตสาหกรรม โดยตัวลิเทียมจะต้องมีอุตสาหกรรม Refinery เข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนกันต้องทำให้สะอาดขึ้น ถ้าเรามองว่าโซเดียมไอออนก็มีพื้นฐานรออยู่แล้ว รวมถึงกระบวนการ Refinery ก็ง่ายกว่ามาก เพราะมีอยู่แล้ว สามารถเอาไปต่อยอดเป็น Product ได้เร็วกว่าลิเทียม”
ตอบโจทย์ประเทศแต่ยังอยู่บนหิ้ง
ดร.นงลักษณ์ กล่าวว่า งานวิจัยทำทั้งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและแบตเตอรี่โซเดียมไอออน เริ่มวิจัยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนก่อน แบตเตอรี่โซเดียมไอออนเพิ่งทำเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว เพราะโซเดียมไอออนเป็นแบตเตอรี่ชนิดใหม่ เหตุที่ต้องมาทำ เพราะลิเทียมไอออนมีข้อจำกัด ถ้าทำงานวิจัยนี้ที่เมืองไทยมีประโยชน์ เพราะรู้ว่าเรามีทรัพยากร แต่ลิเทียมไม่มี การวิจัยนี้จึงเป็นการแก้โจทย์เรื่องวัตถุดิบให้กับประเทศ
แต่ด้วยความที่อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่เป็นอุตสาหกรรมเคมีขนาดใหญ่ระดับการลงทุน เพื่อให้ได้เป็นสินค้าที่มีราคาจับต้องได้ จะต้องมีโรงงานขนาดใหญ่มาก ใช้งบฯลงทุนเป็นหมื่นล้าน แต่ถ้ามองว่าผลิตออกมาเป็นสินค้า และมีเป็นสินค้าโดยไม่สนใจเรื่องราคาก็สามารถขายได้เลย
“เราผลิตงานวิจัย แต่เป็นการขายเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้กับผู้ผลิตรายใหญ่มากกว่า หรือเราต้องตั้งโรงงานผลิตขนาดใหญ่ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงมากกว่า เรื่องนี้ต้องเป็น Strategy ของประเทศก่อน อย่างแรกไทยไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนของลิเทียมไอออนเลย ถ้าทำให้กลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ต้องทำให้แบตเตอรี่เป็นอุตสาหกรรมระดับประเทศ แต่เพราะเรามีทรัพยากรแบบนี้ ก็ควรผลักดันให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เอาแบตเตอรี่ไปเป็นส่วนหนึ่งของยานยนต์ไฟฟ้า”
ดร.นงลักษณ์ทิ้งท้ายด้วยว่า อยากให้แยกระหว่างอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ให้เป็นอุตสาหกรรมที่แยกกันกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ควรมองว่าเป็นแค่อีวีเท่านั้น เพราะอย่างโซเดียมไอออน ถ้าลงทุนแล้วมีอุตสาหกรรมใหม่ จะมีตลาดของสินค้านั้นเอง แต่ต้องทำให้เห็นภาพนั้นก่อน สินค้ากลุ่มนี้ไม่ใช่สินค้าคอนซูเมอร์โปรดักต์ที่สามารถผลิตออกมาแล้วขายในเซเว่นฯ ได้ การเข้าถึงการลงทุนจึงยาก
ขอขอบคุณข้อมูลและบทสัมภาษณ์จาก