นางสาวธันย์ชนก สมหนู นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมนักวิจัยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมค้นพบ “เปราะนพรัตน์” (Kaempferia noctiflora var. thepthepae Noppornch. & Somnoo) พืชเฉพาะถิ่นของไทยพันธุ์ใหม่ของโลก
คณะนักวิจัยนำโดย ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล นักวิชาการกองวิชาการพฤกษศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (NSM) และ ผศ.ดร.ทยา เจนจิตติกุล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล น.ส.ธัญย์ชนก สมหนู นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นางสาวจิราภรณ์ มีวาสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ ดร.วัฒนา ตันมิ่ง สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ค้นพบ “เปราะนพรัตน์” (Kaempferia noctiflora var. thepthepae Noppornch. & Somnoo) พืชเฉพาะถิ่นของไทยพันธุ์ใหม่ของโลก อยู่ในวงศ์ขิงข่า สกุลเปราะหอม สกุลย่อยดอกดิน มีสถานะทางอนุกรมวิธานอยู่ภายใต้ชนิด “เปราะใบม่วง” หรือ “เปราะราตรี” (K. noctiflora Noppornch. & Jenjitt.) พบเฉพาะที่ อ.ดอยสะเก็ด และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เท่านั้น มีลักษณะเด่นคือมีดอกสีขาวแต้มสีม่วง ขนาดประมาณ 6 เซนติเมตร บานตอนเช้า มีกลิ่นหอมเย็น ออกดอกเฉพาะเดือนพฤษภาคมของทุกปี แต่ละต้นจะออกดอก 1-2 ดอก ใบมีลวดลายสวยงาม ใบอ่อนสามารถนำไปรับประทานได้ “เปราะนพรัตน์” พบขึ้นตามป่าชุมชนและป่าชายเขาทั่วไป ซึ่งคณะนักวิจัยพบว่าปัจจุบันอยู่ในสถานะ “เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” จากการคุกคามของมนุษย์ “เปราะนพรัตน์” แตกต่างจากเปราะราตรีซึ่งมีดอกสีขาวล้วน ไม่มีแต้มสีม่วง และบานตอนกลางคืน
นางสาวธันย์ชนก สมหนู กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่ได้รับโอกาสร่วมทำงานวิจัยเรื่องนี้ โดยในจุดเริ่มต้นมีการพบเปราะชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงแต่มีความแตกต่างจากเปราะทั่วไปที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้ จึงมีการสำรวจในพื้นที่ที่ค้นพบนี้ คือที่อ.ดอยสะเก็ด และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่เพื่อหาข้อมูลให้มากขึ้น และคณะนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างนำมาศึกษา จนพบว่า เปราะชนิดนี้มีลักษณะคล้าย “เปราะราตรี” แต่จากการศึกษาค้นคว้าทำให้เราค้นพบว่าเป็นอีกพันธุ์ (variety) หนึ่ง จึงตั้งชื่อ “เปราะนพรัตน์” ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ใหม่ของโลก”
“ซึ่งผลงานค้นคว้าวิจัยในครั้งนี้ ช่วยเพิ่มเติมข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสกุลเปราะในประเทศไทย และจะช่วยในการที่นักวิจัยจะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ยา หรืองานวิจัยในด้านต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง” นางสาวธันย์ชนก สมหนู กล่าว
ผลงานการค้นพบ “เปราะนพรัตน์” ได้ถูกตีพิมพ์ลงวารสารระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici (Q2) ประเทศฟินเเลนด์ ฉบับที่ 61 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา