คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมเป็นเกียรติในการติดตามโครงการพัฒนากลไกการสร้างและสะสมบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูง (โครงการวิจัยงาน เชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund: SF) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับงบประมาณจาก บพค.

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ผศ.ดร. อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้การต้อนรับ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาระบบ ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาระบบ ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้จำนวน 11 ท่าน และ ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมนักวิเคราะห์ บพค. จำนวน 4 ท่าน ณ ห้องประชุม Meeting
Room 3 ชั้น 1 อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องในโอกาส การติดตามการดำเนินงานของโครงการภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม พ.ศ. 2566 โดยมี รศ.ดร. รินา ภัทรมานนท์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับทุนโครงการพัฒนากลไกการสร้างและสะสมบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูง (โครงการวิจัยงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund: SF) ที่ได้รับงบประมาณจาก บพค. ปีงบประมาณ 2565) ซึ่งมีผู้ร่วมวิจัยได้แก่ คุณจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ผศ.ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน และ ผศ.ดร.พาวินี กลางท่าไค่

โครงการการพัฒนากลไกการสร้างและสะสมบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูง (Thailand Postdoctoral/Postgraduate System of Thailand) เป็นแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดการพัฒนากำลังคนขั้นสูงของประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Industrial postgraduate/postdoc) และความต้องการองค์ความรู้ขั้นแนวหน้าของประเทศ (Frontier postgraduate/postdoc)  ซึ่งมีนักวิจัยพี่เลี้ยงและนักวิจัยระดับหลังปริญญาโทและระดับหลังปริญญาเอก (Frontier and Industrial Postdoctoral/Postgraduates) ทั้งหมด 30 โครงการย่อย ในสาขา High Energy Physics and Plasma, Quantum Technology, Frontier BCG, S-Curves/New S-Curve, และ Social Sciences, Arts, and Humanities. โดยจากทั้ง 30 โครงการ มี 12 โครงการดูแลโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในสาขา Frontier-BCG และ SHA ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความโดดเด่นของทั้งสองสาขานี้ และสามารถต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจครอบคลุมถึงกลุ่ม bioeconomy, medical hub, และ creative economy

สำหรับนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ และน้องๆ ที่จบระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่สนใจขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมและสนใจทำงานร่วมกับภาคเอกชน สามารถฝากคุณสมบัติต่างๆ ของตนได้ที่ https://postdocthailand.org/ สำหรับกระบวนการอีกช่องทางหนึ่งคือ สามารถรวมตัวกันในลักษณะคอร์นซอร์เตียมเพื่อยื่นขอทุนจาก บพค. โดยสามารถติดตามรอบต่อไปในช่วงเดือน พค.-มิย. ปี 2568 ดังตัวอย่างการเปิดรับสมัครในปี 2567 รายละเอียดในเวบไซต์นี้ https://www.pmu-hr.or.th/portfolio/pmubfunding-2567-postdoctoral-postgraduate/

ข้อมูลข่าวโดย รศ.ดร. รินา ภัทรมานนท์