ประวัติคณะวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการจัดตั้งขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2507 พร้อมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้มีพระราชกฤษฎีกา จัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2509 โดยใช้ชื่อว่า “คณะวิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์” ทำหน้าที่ให้บริการสอนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ แก่นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์ ในปีพุทธศักราช 2516 เริ่มมีการรับนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์ รุ่นแรก 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ต่อมาในปีพุทธศักราช 2518 มีการรับนักศึกษาสาขาบรรณารักษ์ศาสตร์ ทำให้มีภารกิจเพิ่มขึ้นในด้านการผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์และทางอักษรศาสตร์ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีความเป็นเอกภาพ ในปีพุทธศักราช 2521 จึงได้มีการแยกออกเป็น 2 คณะ คือ “คณะวิทยาศาสตร์” และ “คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์”


คณะวิทยาศาสตร์เมื่อแรกก่อตั้งได้แบ่งส่วนราชการเป็น 5 ส่วน คือ สำนักงานคณบดี ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา และภาควิชาฟิสิกส์ ปัจจุบันประกอบด้วย 10 ส่วน คือ สำนักงานคณบดี ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีวเคมี ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ภาควิชาสถิติ และภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีหลักสูตรรวม 47 หลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรระดับปริญญาตรี 14 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 19 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก 14 หลักสูตร


คณะวิทยาศาสตร์ มีการกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อตั้งเป้าหมายในการดำเนินการของคณะวิทยาศาสตร์ โดยเป้าหมายแห่งคุณภาพคือบัณฑิตของคณะวิทยาศาสตร์ กอปรด้วยวิทยา จริยา ปัญญา มีคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ เป็นผู้มีจิตสาธารณะ มีความเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม มีบทบาทและภาวะผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคณะวิทยาศาสตร์ได้มีส่วนนำไปใช้ในการสร้างเสริมคุณค่าและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศ มีการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่สังคม นักศึกษา ศิษย์เก่าและบุคลากรได้รับการยกย่องในเวทีต่างๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นอกจากนี้คณะวิทยาศาสตร์ยังมีเป้าหมายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีขีดความสามารถสูง บุคลากรมีคุณภาพชีวิตในการทำงานบนพื้นฐานของความภักดีและผูกพันกับองค์กร อีกทั้งมีคุณภาพมาตรฐานโดยผ่านการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในระดับดีมากทุกรอบการประเมิน และได้รับการจัดอันดับการศึกษาจากองค์กรต่างประเทศ


ผลงานหรือรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของคณะวิทยาศาสตร์

- QS University Rankings : Asia 2015 (ลำดับที่ 171-180)

- ปี พ.ศ. 2552 มีผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยอยู่ในระดับดีมาก 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยา สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (ประเมินโดย สกว.)

- รางวัลคณะวิชาที่มีผลงานดีเยี่ยม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2557

- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คณะวิชาที่มีผลงานด้านการวิจัยระดับดีเยี่ยม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2556

- รางวัลชนะเลิศคณะวิชาที่มีผลงานด้านการวิจัยระดับดีเยี่ยม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2555

- รางวัลชนะเลิศคณะวิชาที่มีผลงานด้านการวิจัยระดับดีเยี่ยม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2554

- รางวัลชนะเลิศคณะวิชาที่มีผลงานด้านการวิจัยระดับดีเยี่ยม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2553

- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คณะวิชาที่มีผลงานด้านการวิจัยระดับดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2552

- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คณะวิชาที่มีผลงานด้านการวิจัยระดับดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2550-2551

- ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติของคณะวิทยาศาสตร์ (ปี 2009 – 2014) ปี 2014 จำนวน 230 บทความ ปี 2013 จำนวน 204 บทความ ปี 2012 จำนวน 190 บทความ ปี 2011 จำนวน 155 บทความ ปี 2010 จำนวน 146 บทความ ปี 2009 จำนวน 130 บทความ


นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ยังได้ให้ความสำคัญด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพัฒนาประเทศ โดยดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งจัดในเดือนสิงหาคมของทุกปี โครงการโอลิมปิกวิชาการและดาราศาสตร์โอลิมปิก ค่ายวิทยาศาสตร์สัญจร (Science Tour) โครงการเสริมความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โครงการดาราศาสตร์ฤดูหนาวแก่โรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ค่ายวิชาการในสาขาวิชาต่างๆ อาทิ โครงการค่ายเคมี โครงการค่ายเยาวชนชีววิทยา โครงการฟิสิกส์สัญจร โครงการค่ายฝึกอบรมพัฒนาผู้นำเยาวชนอีสาน 20 จังหวัด โครงการค่ายดูนกและศึกษาธรรมชาติ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนค่ายคอมพิวเตอร์ และวารสารวิทยาศาสตร์ มข. เป็นต้น


พ.ศ.2507

ทำหน้าที่สอนวิชาภาอังกฤษ และวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คือ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ให้กับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะเกษตรศาสตร์ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2507 โดยได้รับจัดตั้งเป็นคณะวิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์ ในโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชื่อจัดตั้งในสมัยนั้น)


พ.ศ.2509

จัดตั้ง “คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์” โดย ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2509 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 83 ตอนที่ 26 หน้า 242 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2509


พ.ศ.2521

เปลี่ยนชื่อ “คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์” เป็น “คณะวิทยาศาสตร์” และแบ่งส่วนราชการภายในคณะวิทยาศาสตร์ ออกเป็น “สำนักงานเลขานุการ” และ “ภาควิชา” ต่างๆ รวม 5 ภาควิชา ดังนี้ สำนักงานเลขานุการ, ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ, ภาควิชาเคมี, ภาควิชีววิทยา, ภาควิชาธรณีวิทยา และ ภาควิชาฟิสิกส์ โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 72 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2521


พ.ศ.2523

เปลี่ยนชื่อ “สำนักงานเลขานุการ” เป็น “สำนักงานคณบดี” โดย ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2523 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 72 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2523


พ.ศ.2526

จัดตั้ง “ภาควิชาสถิติ” และเปลี่ยนชื่อ “ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ” เป็น “ภาควิชาคณิตศาสตร์” โดย ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2526 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 17 เล่ม 100 ตอนที่ 164 วันที่ 14 ตุลาคม 2526


พ.ศ.2527

ตัดโอน “ภาควิชาธรณีวิทยา” ไปสังกัดคณะเทคโนโลยี และเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี” โดย ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2527 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 150 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2527


พ.ศ.2530

ก.ม.ได้พิจารณาลงมติอนุมัติให้แบ่งส่วนราชการในสำนักคณบดี ออกเป็น “งาน” และ “หน่วย” ต่างๆ ดังนี้

1. งานนโยบายและแผน

2. งานบริหารและธุรการ

2.1 หน่วยสารบรรณ

2.2 หน่วยการเจ้าหน้าที่

2.3 หน่วยอาคารสถานที่และยานพาหนะ

3. งานคลังและพัสดุ

3.1 หน่วยการเงินและบัญชี

3.2 หน่วยพัสดุ

4. งานบริการการศึกษา

4.1 หน่วยทะเบียนและประเมินผลการศึกษา

4.2 หน่วยส่งเสริมพัฒนาทางวิชาการ

4.3 หน่วยกิจการนักศึกษา

ทั้งนี้ ตามหนังสืออนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัย ที่ ทม 0202 / 5740 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2530


พ.ศ.2532

จัดตั้ง “ภาควิชาจุลชีวิวิทยา” โดย ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา แบบพิเศษ หน้า 8-11 เล่ม 106 ตอนที่ 63 วันที่ 21 เมษายน 2532


พ.ศ.2534

ก.ม.ได้พิจารณาลงมติอนุมัติให้เพิ่ม “’งานบริการวิชาการและวิจัย” ในการแบ่งส่วนราชการในสำนักคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ตามหนังสืออนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัย ที่ ทม 0202 / 21078 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2534


พ.ศ.2535

จัดตั้ง “ภาควิชาชีวเคมี” โดย ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2535 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 27 วันที่ 25 มีนาคม 2535


พ.ศ.2537

จัดตั้ง “ภาควิชานิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม” และ “ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์” โดย ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2537 ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2537 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไปเล่มที่ 111 ตอนพิเศษ 16 ง. วันที่ 23 มีนาคม 2537


พ.ศ.2540

ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อ “ภาควิชานิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม” เป็น “ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” ตามหนังสือทบวงมหาวิทยาลัย ที่ ทม 0204(3) / 4049 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2540


พ.ศ.2540

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย 9 ภาควิชา และสำนักงานคณบดี คือ

1. ภาควิชาคณิตศาสตร์

2. ภาควิชาเคมี

3. ภาควิชาจุลชีววิทยา

4. ภาควิชาชีวเคมี

5. ภาควิชาชีววิทยา

6. ภาควิชาฟิสิกส์

7. ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

8. ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์

9. ภาควิชาสถิติ

10. สำนักงานคณบดี

10.1 งานนโยบายและแผน

10.2 งานบริหารและธุรการ

10.2.1 หน่วยสารบรรณ

10.2.2 หน่วยการเจ้าหน้าที่

10.2.3 หน่วยอาคารสถานที่และยานพาหนะ

10.3 งานคลังและพัสดุ

10.3.1 หน่วยการเงินและบัญชี

10.3.2 หน่วยพัสดุ

10.4 งานบริการการศึกษา

10.4.1 หน่วยทะเบียนและประเมินผลการศึกษา

10.4.2 หน่วยส่งเสริมพัฒนาทางวิชาการ

10.4.3 หน่วยกิจการนักศึกษา

10.5 งานบริการวิชาการและวิจัย