เผยแพร่เมื่อ: 1 ก.พ. 2566 ข่าวประชาสัมพันธ์/ข่าวทั่วไป
ศาสตราจารย์ประนอม จันทรโณทัย ดร.พรชัย กลัดวงษ์ และนายพงศกร คุณาสิทธิ์ นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วิจัยและค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกซึ่งอยู่ในวงศ์ไม้พิกุล (Sapotaceae) จากจังหวัดกาญจนบุรี และให้ชื่อพืชว่า มะซางกาญจน์ (Madhuca kanchanaburiensis Chantar., Kunasit & Kladwong)
ตัวอย่างพืช Chantaranothai, Kunasit & Kladwong 2022/1 ซึ่งเก็บเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นตัวอย่างต้นแบบแรก (holotype) เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKU) และตัวอย่างคู่ตัวอย่างต้นแบบ (isotype) เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (BKF) พิพิธภัณฑ์พืช สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (QBG) และพิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU) ผลงานการค้นพบนี้ได้พิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Phytotaxa ฉบับที่ 574(2) หน้า 173–178 ปี ค.ศ. 2022 พืชชนิดใหม่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาของรูปร่างใบและขนาดของก้านใบและกลีบเลี้ยงคล้ายกับมะซางมะละกา (M. malaccensis (C.B.Clarke) H.J.Lam) และมะซางลำพูน (M. punctata H.R.Fletcher) แต่มะซางกาญจน์นี้มีลักษณะเด่นต่างจากพืชทั้งสองที่เส้นแขนงใบเด่นชัดไปจนจรดขอบใบ กลีบดอกยาว 15–17 มม. และก้านชูเกสรเพศผู้มีขนแบบขนแกะปกคลุม (wooly filament) ส่วนพืชอีกสองชนิดมีเส้นแขนงใบมีขนาดเล็กเรียวบางและไม่เด่นชัดที่ขอบใบ กลีบดอกยาว 8–9 มม. ส่วนก้านชูเกสรเพศผู้ของมะซางมะละกามีขนหยาบแข็ง (hirsute) และมะซางลำพูนไร้ขน นอกจากนี้ยังพบว่า มะซางกาญจน์ มีลักษณะสัณฐานวิทยาแตกต่างจากมะซางมะละกาหลายลักษณะด้วยกัน เช่น มีก้านดอกย่อยยาว 2.2–3.5 ซม. กลีบดอกและอับเรณูไร้ขน ส่วนมะซางมะละกามีก้านดอกย่อย ยาว 0.7–1 ซม. กลีบดอกและอับเรณูมีขน ส่วนมะซางกาญจน์มีลักษณะอื่นที่แตกต่างจากมะซางลำพูน เช่น ปลายใบแหลม (acute) หรือมน (obtuse) การเรียงของเส้นแขนงใบชั้นที่สามเป็นแบบขนาน (transverse tertiary venation) และเกสรเพศผู้มี 18–20 อัน ส่วนมะซางลำพูนมีปลายใบเว้า (retuse) เส้นแขนงใบชั้นที่สามเรียงตัวแบบร่างแห (reticulate tertiary venation) และเกสรเพศผู้มี 20 อัน
การกระจายพันธุ์ บริเวณเขาหินปูนที่วัดท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ระดับความสูง 120-275 เมตร
นอกจากนี้ ศาตราจารย์ประนอม จันทรโณทัย ศึกษาพืชวงศ์ไม้พิกุลในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2557 ได้พิมพ์ผลงานระบุว่าประเทศไทยมีพืชในสกุลมะซาง (Madhuca) จำนวน 16 ชนิด ซึ่งมี 9 ชนิดพบเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น และได้บรรยายพืชชนิดใหม่ของโลกที่พบเฉพาะในมาเลเซียร่วมกับศาสตราจารย์ Dato’ Dr. Abdul Latiff Mohamad จากมหาวิทยาลัย Kebangsaan มาเลเซีย และอาจารย์ Naser Omar จากมหาวิทยาลัย Benghazi ลิเบีย จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ M. whitmorei Chantar., Latiff & N.Omar และ M. malaysiana Chantar., Latif & N.Omar