อาจารย์และนักวิจัยคณะวิทย์ มข. ได้รับเชิญเป็นวิทยากร ในโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research To Market - R2M)” ประจำปี 2565

เผยแพร่เมื่อ: 22 ก.ย. 2565 ข่าวประชาสัมพันธ์/ข่าวทั่วไป



          รศ. ดร.โฉมศรี  ศิริวงศ์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี  และ นายศุภฤกษ์  บุพศิริ  นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเคมี ได้รับเชิญเป็นวิทยากร ในโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research To Market - R2M) ประจำปี 2565 วันที่ 17 กันยายน 2565  ณ  อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) ซึ่งได้บรรยายในหัวข้อ “กรรมวิธีการสังเคราะห์คอมโพสิตสังกะสีออกไซต์บนพื้นผิวไมโครผลึกเซลลูโลส Method for farbricating zinc oxide deposited on microcrystalline cellulose composite งานวิจัยนี้ได้นำเสนอกรรมวิธีการสังเคราะห์คอมโพสิตสังกะสีออกไซด์บนพื้นผิวไมโครผลึกเซลลูโลสด้วยกระบวนการแบบไฮโดรเทอร์มอล (Hydrothermal process) เพื่อใช้เป็นสารเคมียางรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดปริมาณของสังกะสีออกไซด์ที่อยู่ในสูตรยางลงได้ถึง 50% และยังคงให้ประสิทธิภาพการคงรูปยางที่เทียบเคียงได้กับการใช้สังกะสีออกไซด์บริสุทธิ์ที่มีขายตามท้องตลาด คอมโพสิตสังกะสีออกไซด์นี้เป็นการนำเอาวัสดุทางธรรมชาติอย่างเซลลูโลสมาเป็นวัสดุแกนกลางก่อนจะสังเคราะห์อนุภาคสังกะสีออกไซด์ลงไปบนพื้นผิว โดยใช้น้ำบริสุทธิ์เป็นตัวกลางในการสังเคราะห์ ทำให้กรรมวิธีนี้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการควบคุมและจำกัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้
 

                โครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market -R2M)” เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อจะเปิดแนวทางเชิงรุกของนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์หรือผลงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาสู่เชิงพาณิชย์ และเป็นการสร้างโอกาสให้นักวิจัย ผู้คิดค้นนวัตกรรม และนักศึกษาได้ร่วมทดสอบถึงความเป็นไปได้ที่จะนำผลงานวิจัยไปต่อยอด ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้โครงการ R2M ยังส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและสร้างวัฒนธรรมของการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี และลดช่องว่างระหว่างผลงานวิจัยและนวัตกรรมกับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เนื่องด้วยงานวิจัยซึ่งดำเนินการโดยสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยพื้นฐานและการสำรวจข้อมูลมากกว่างานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีที่สามารถนำพัฒนา ต่อยอดหรือถ่ายทอดไปสู่การผลิตสินค้าหรือบริการในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ ในเชิงธุรกิจ การศึกษาต้นทุนและความต้องการของตลาด