ขอแสดงความยินดีกับ รศ. ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2563

เผยแพร่เมื่อ: 18 ส.ค. 2563 ข่าวบุคลากร



           กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มอบรางวัลผลงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น (Development in Medical Science: DMSc Award) เพื่อเชิดชูผู้ที่มีผลงานพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ในแต่ละปีนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศ และเพื่อให้การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นเวทีเชิดชูผู้ที่มีผลงานพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้เป็นที่ปรากฏในเวทีหนึ่งของประเทศ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงจัดให้มีการประกวดผลงานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อรับรางวัลผลงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น โดยเน้นผลงานที่เป็นประโยชน์ สามารถใช้แก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ในปีนี้ได้แบ่งประเภทผลงานเป็น 3 ประเภท คือ   1. ประเภทงานวิจัยและพัฒนาเพื่อองค์ความรู้ใหม่ เน้นผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์และมีแนวทางใช้ประโยชน์ได้จริง   2. ประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหนังสือ/ตำราทางการแพทย์หรือทางห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาต่าง ๆ และ  3. ประเภทการพัฒนาคุณภาพการบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการพัฒนาบริการทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือการสร้างงานวิจัยจากงานประจำ โดยในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2563 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ได้มีผลงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศส่งเข้าประกวด ทั้งจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย สถาบันทางการแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาล และจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เอง โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วยแพทย์ อาจารย์ และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งจากภายในและภายนอก

           โดยในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ โดยผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล คือ การออกแบบอนุภาคนาโนเพื่อการประยุกต์ในด้านการแพทย์ระดับนาโน (Designing Nanoparticles for Applications in Nanomedicine) ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ เป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัย Smart Nanoparticle for Nanomedicine ณ สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยงานวิจัยที่ศึกษาที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นออกแบบอนุภาคนาโนด้วยนาโนเทคโนโลยีเชิงคอมพิวเตอร์เพื่อการประยุกต์ในการพัฒนาไบโอเซนเซอร์และการนำส่งยาด้วยอนุภาคนาโน สำหรับการพัฒนาไบโอเซนเซอร์ได้ศึกษาเชิงลึกด้วยการจำลองเชิงคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาการตรวจวัดสารบ่งชี้ทางชีวภาพที่สามารถตรวจพบได้ในปัสสาวะเเละของเหลวชีวภาพอื่น ๆ  ทำให้เข้าใจกลไกการตรวจจับสารชีวโมเลกุลที่เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การประดิษฐ์ชุดตรวจแบบพกพาที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถตรวจวัดโมเลกุลเป้าหมายที่มีความเข้มข้นต่ำ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีขั้นตอนการตรวจวัดที่ง่าย สามารถขยายผลได้ในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ได้ศึกษาและออกแบบอนุภาคนาโนทองเพื่อการประยุกต์ในด้านการนำส่งยาด้วยการจำลองเชิงคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเข้าใจกลไกการเข้าสู่เซลล์ของอนุภาคนาโนทองอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การพัฒนาการนำส่งยาด้วยอนุภาคนาโนไปยังบริเวณอวัยวะเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยผลงานวิจัยที่โดดเด่นจึงมีผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติจำนวนมาก และได้รับคัดเลือกให้ลงปกวารสารระดับนานาชาติของ American Chemical Society ทั้งหมด 4 บทความ (Journal of Physical Chemistry C จำนวน 1 บทความ, Journal of Physical Chemistry B จำนวน 2 บทความ และ ACS Omega จำนวน 1 บทความ) ผลงานวิจัยเหล่านี้คาดหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาสุขภาพของคนไทย รวมทั้งสามารถขยายผลได้ในเชิงพาณิชย์ในอนาคต โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ จะเข้ารับมอบรางวัลจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ฝ่ายวิจัยและวิชาการ เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี รวมทั้งบรรยายพิเศษในพิธีเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 28 ในวันที่ 26 สิงหาคม 2563