เผยแพร่เมื่อ: 3 ต.ค. 2559 ข่าวนักเรียน
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดค่ายโอลิมปิกวิชาการและค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก ค่ายที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2559 ณ ศูนย์ สอวน.มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ. ดร. ธนูสิทธิ์ บุรินทร์ประโคน รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวต้อนรับนักเรียนและผู้ปกครอง มี อ.ดร.ชิณณวรรธน์ ตั้งกาญจนวงศ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ชี้แจงระเบียบการเข้าค่ายฯ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 59 ณ ห้อง 3201 อาคารวิทยาศาสตร์ 03 คณะวิทยาศาสตร์
ผศ. ดร. ธนูสิทธิ์ บุรินทร์ประโคน กล่าวว่า “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้เป็นศูนย์ สอวน. ระดับภูมิภาค ในการดำเนินงานค่ายโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐาน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก โดยรับผิดชอบดำเนินโครงการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด จำนวน 5 สาขาวิชา ได้แก่ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และ ดาราศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนอีก 2 สาขาวิชา จะดำเนินการจัดค่ายที่ ศูนย์ สอวน. สาขาวิชาเคมี โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ และศูนย์ สอวน.สาขาวิชาชีววิทยา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสกลนคร
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยได้ส่งนักเรียนเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลามากกว่า 27 ปี ได้รับผลสัมฤทธิ์ที่ดีมาเป็นลำดับ โดยมีเป้าหมายในระยะเริ่มต้นเพื่อที่จะวัดมาตรฐานนักเรียนระดับมัธยมศึกษาของประเทศให้เทียบเท่ากับระดับสากล และนำความรู้ที่ได้จากการแข่งขันมาช่วยยกระดับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศ ซึ่งเป้าหมายหลักคือการยกระดับการเรียนการสอน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในระดับโรงเรียน ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านยังทรงพระชนม์ชีพ ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญและปัญหาของการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้ได้ระดับมาตรฐาน จึงได้ทรงประทานเงินส่วนพระองค์ให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปดำเนินการจัดตั้ง มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทั้งทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิด้วย ในปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอวน.
เพื่อสนองพระดำริขององค์ประธานมูลนิธิ และเพื่อประโยชน์ของประเทศในระยะยาว มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) กระทรวงศึกษาธิการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐ 19 แห่ง สถาบัน ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักเรียนที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ก่อน รวมทั้งพัฒนาวิธีสอนและทัศนคติของครูในโรงเรียนด้วย ก่อนที่จะขยายผลต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดค่าย ฯ ดังนี้
การจัดค่าย ฯ ของศูนย์ สอวน. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้ จัดเป็นปีที่ 15 ครั้งที่ 26 โดยได้สอบคัดเลือกนักเรียนเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2559 จาก 13 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี หนองคาย สกลนคร หนองบัวลำภู เลย นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และร้อยเอ็ด เพื่อเข้าค่ายที่ 1 ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 16 ตุลาคม 2559 มีนักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกเข้าค่ายฯ เฉพาะในศูนย์ สอวน.คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นรับผิดชอบ จำนวน 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 35 คน สาขาวิชาฟิสิกส์ จำนวน 35 คน และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ จำนวน 35 คน รวมเป็น 105 คน หลังจากเข้าค่ายฯ ครั้งนี้ แล้ว จะมีการสอบคัดเลือกนักเรียนจากค่ายที่ 1 จำนวนสาขาละ 20 คน เพื่อเข้าค่ายที่ 2 ในเดือนมีนาคม 2560 และจะมีการสอบคัดเลือกนักเรียนจากค่ายที่ 2 จำนวนสาขาละ 6 คน ไปแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติต่อไป
สำหรับการอบรมดาราศาสตร์ของศูนย์ สอวน. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เริ่มมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 และครั้งนี้ เป็นการจัดค่าย ฯ ปีที่ 13 ครั้งที่ 23 รับผิดชอบคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด โดยได้สอบคัดเลือกนักเรียน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2559 เพื่อเข้าค่าย ฯ ทั้ง 2 ระดับ มีผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 35 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 37 คน หลังจากนั้นจะคัดเลือกนักเรียนจากค่ายที่ 1 ของแต่ระดับชั้นเพื่อเข้าค่ายที่ 2 จำนวนระดับชั้นละ 20 คน แล้วจึงคัดเลือกจากค่าย 2 อีกระดับชั้นละ 6 คน รวมเป็น 12 คน เพื่อไปแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติต่อไป” ผศ. ดร. ธนูสิทธิ์ กล่าวตอนท้าย