“ส่องฟ้า” สมุนไพรพื้นบ้าน ต้านมะเร็งผลงานวิจัยของ รศ.ฉวี เย็นใจ

เผยแพร่เมื่อ: 27 ก.พ. 2557 ข่าววิจัย



เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 รศ.ดร ศจี สัตยุตม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย และรศ.ดร.นิยม  วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร พร้อมด้วย รศ.ฉวี  เย็นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงานวิจัย ร่วมกันแถลงข่าวผลงาน  “องค์ประกอบทางเคมีของส่องฟ้าและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพ”  ณ ห้องประชุมสิริคุณากร  4 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
         ส่องฟ้าเป็นสมุนไพรไทยที่พบทั่วไปในเขตร้อนชื้น และพบได้ตามป่าโปร่งทั่วภาคอีสาน มีลักษณะไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง
20-25 เซนติเมตร โดยใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับใบย่อย มีรูปคล้ายไข่ แกมวงรี ส่วนแผ่นใบมีจุดน้ำมันกระจาย เมื่อส่องดูจะมองเห็นจุดโปร่งแสงเล็กๆ กระจายทั่วทั้งใบ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยมีกลีบดอกสีขาวแกมเหลือง ผลสดรูปกลมรี และยอดอ่อนรับประทานเป็นผัก สรรพคุณทางยาต้มน้ำดื่มเพื่อแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นส่วนหนึ่งตำรายาไทย โดยสามารถพบต้นส่องฟ้าได้ทั่วไปตามพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ หรือบริเวณที่มีดินทรายถึงดินร่วนทราย ยอดอ่อนสามารถรับประทานได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะค่อนข้างแข็งกระด้าง
          รศ.ฉวี  เย็นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่อง “องค์ประกอบทางเคมีของส่องฟ้าและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพ” พบว่าส่องฟ้ามีองค์ประกอบทางเคมีเป็นคาร์บาโซลโดยส่วนใหญ่ และยังพบสารคูมารินอีกด้วย ทั้งนี้สารคาร์บาโซลเป็นสารที่มีอะตอมของไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก (หรือที่เรียกว่าอัลคาลอยด์)  และแสดงฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดีในการต้านมะเร็ง  จากการทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก และมะเร็งท่อน้ำดีซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในภาคอีสาน พบว่าองค์ประกอบทางเคมีของต้นส่องฟ้ามีสารคาร์บาโซลบางชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งมะเร็งปอดและมะเร็งช่องปากที่ดี (
IC50= 1.3-2.7 µM) สำหรับเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีชนิด KKU-OCA17 และ KKU-214 ก็สามารถถูกยับยั้งได้ด้วยสารคาร์บาโซลจากต้นส่องฟ้าเช่นกัน (การทดสอบมะเร็งท่อน้ำดี ทำโดย รศ.ดร วีรพล คู่คงวิริยพันธุ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) 
           รศ.ฉวี   ยังเผยต่ออีกว่า นอกจากการค้นพบสารบางชนิดในต้นส่องฟ้าที่มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งต่างๆ แล้ว ยังพบสารคูมารินบางสารในต้นส่องฟ้านี้มีฤทธิ์ต้าน
lipid per oxidation ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับภาวะผิดปรกติในร่างกาย เช่น ภาวะความจำเสื่อม มะเร็ง เบาหวาน  ดังนั้นการค้นพบสารคาร์บาโซลและคูมารินในส่องฟ้าจึงเป็นสารที่สามารถลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้เช่นกัน (โดยฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ทำโดย อ.ดร. กุสุมาลย์  น้อยผา คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ)
       หลังค้นพบว่าต้นส่องฟ้ามีฤทธิ์ของสารบางชนิดในการต้นมะเร็ง และลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้แล้ว ผู้วิจัยได้มีการเตรียมอนุพันธ์ของคาร์บาโซล โดยอาศัยความรู้ทางเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ สารคาร์บาโซลได้ถูกดัดแปลงโครงสร้างให้เป็นอนุพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะได้สารโครงสร้างใหม่ๆที่อาจแสดงฤทธิ์ที่น่าสนใจ
        เมื่อทำการดัดแปลงโครงสร้างของคาร์บาโซลโดยนำไปต่อกับสารบางชนิด  พบว่าสามารถช่วยลดภาวะความจำเสื่อมได้เช่นกัน  (โดยงานวิจัยชิ้นนี้นักวิจัยหลักคือ อาจารย์ ดร. จันทนา บุญยะรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น )
        กล่าวคือสารบางชนิดจากต้นส่องฟ้ามีฤทธิ์ ต้านมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือดอันก่อให้เกิดโรคเบาหวาน และเมื่อนำสารในต้นส่องฟ้าไปต่อกับสารบางชนิด พบว่า สามารถช่วยลดภาวะความจำเสื่อมได้อีกด้วย ทั้งนี้นักวิจัยเจ้าของโครงการได้ทำการวิจัยเชิงประยุกต์โดยร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยเพื่อทำการทดสอบสารจากต้นส่องฟ้า กับสารในโรคแต่ละชนิดจนสามารถศึกษาข้อค้นพบดังกล่าวได้สำเร็จ
         รศ.ดร ศจี สัตยุตม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  การค้นพบองค์ประกอบทางเคมีในต้นส่องฟ้าครั้งนี้ จึงถือเป็น มิติใหม่แห่งวงการนักวิจัย ในการค้นพบองค์ประกอบทางเคมีจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่หลายคนมองข้าม คาดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถพัฒนาสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มคุณประโยชน์ของสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น  โดยคาดหวังว่าจะสามารถผลิตเป็นยา เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความจำเสื่อม ได้ในอนาคต
         อย่างไรก็ตาม การวิจัยที่กล่าวมาเป็นเพียงการวิจัยเริ่มต้นเท่านั้น หากจะพัฒนาต่อไปจนสามารถใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน ต้องผ่านกระบวนการอีกมากมาย อาทิ การค้นหาผลข้างเคียงที่ยังไม่ได้มีการศึกษา ทั้งนี้“องค์ประกอบทางเคมีของส่องฟ้าและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพ”  ยังไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งหรือเบาหวานได้โดยตรง  จากข้อค้นพบระบุว่าสารบางชนิดในต้นส่องฟ้าสามารถต้านโรคมะเร็งและโรคเบาหวานได้  และมีแนวโน้มว่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดพัฒนาเป็นยาได้ ทั้งนี้ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยชิ้นนี้จะถูกพัฒนาต่อยอดโดยนักวิจัยรุ่นหลังเพื่อผลักดันให้งานวิจัยนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติต่อไป