
วันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มข. จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคสรีรวิทยาของพืชในสภาพเครียด” ณ อาคาร Sc.03 สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมการอบรมจากหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์วิจัยข้าว (ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี) ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวม 48 คน ภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ จากวิทยากรพิเศษ ได้แก่ “Gene editing in Rice Research” โดย ศ. ดร.ศุภจิตรา ชัชวาลย์ (ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) “การปรับปรุงพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ มข 60-1, มข 60-2, และ มข 60-3 3” โดย ผศ. ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน (สาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มข.) “หลักการวัดคลอโรฟิลล์ฟลูออเรสเซนส์ด้วยเครื่อง Handy PEA” โดย ดร.จุฑารัตน์ ปัญจขันธ์ (ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) “หลักการศึกษาเมแทบอโลมิกส์ของพืชและสาธิตการวิเคราะห์ข้อมูล” โดย รศ. ดร.เมศยา ธิติศักดิ์สกุล (สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มข.) มีการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือทางสรีรวิทยาของพืช อาทิ เครื่องวัดอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสง เครื่องวัดคลอโรฟิลล์ฟลูออเรสเซนส์แบบต่าง ๆ เครื่องวัดศักย์ของน้ำในพืช เครื่องออสโมมิเตอร์ และการประเมินสภาพเครียดของพืชด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อนแบบประหยัด ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าอบรมเป็นอย่างมาก
การฝึกอบรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ “โครงการการพัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Thailand Rice Science Research Hub of Knowledge หรือ ‘Hub of Rice’)” ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ‘Hub of Rice’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นแกนนำในการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและวิจัยทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสู่การใช้ประโยชน์ รวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว การวิจัยด้านสรีรวิทยาของข้าวเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งที่สนับสนุนการวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์และการผลิตข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาพเครียดจากสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงยิ่งขึ้นจากสภาวะโลกร้อน การฝึกอบรมในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งคณาจารย์รวมทั้งนักศึกษาบัณฑิตศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และคณะเกษตรศาสตร์ร่วมเป็นวิทยากรและผู้ช่วยวิทยากรในการบรรยายและสาธิตการใช้เครื่องมือต่าง ๆ