“Faculty Fusion” ส่งต่อประสบการณ์จากคณาจารย์บุคลากรและนักศึกษา ภายใต้ธีม “Experiences Worth Sharing”
วันที่ 15 มกราคม 2568 เวลา 13:30-15:30 น. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรม Faculty Fusion ภายใต้ธีม “Experiences Worth Sharing” ณ ห้องประชุมวิทยวิภาส 1 คณะวิทยาศาสตร์ โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 150 คน โดยมี รศ. ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ และเพิ่มบรรยากาศการจัดกิจกรรมด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นและสนุกสนาน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์อย่างน่าสนใจ โดยในกิจกรรมนี้มีวิทยากรของคณะวิทยาศาสตร์ที่มากด้วยประสบการณ์ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ 5 ท่าน ดังนี้
ศ. ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ – อาจารย์ผู้คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568
อาจารย์จากสาขาวิชาฟิสิกส์ ผู้มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นด้านการพัฒนาวัสดุไดอิเล็กทริกร่วมเล่าประสบการณ์จากนักศึกษาจนกระทั่งเป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จผ่านหัวข้อ “From Student to Scientist: A Journey to National Research Excellence” โดยตลอด 10 นาทีได้เล่าประสบการณ์ในการสร้างกลุ่มวิจัยและให้แง่คิดในการทำงานด้านวิจัยให้ประสบความสำเร็จ การบรรยายของท่านเน้นถึงความสำคัญของความอยากรู้อยากเห็นและความมุ่งมั่นในการสร้างงานวิจัยที่ทรงคุณค่า โดยได้ฝากแง่คิดกับผู้ฟังไว้ “อดทน พยายาม มุ่งมั่น และอยู่กับปัจจุบัน”
รศ. ดร.นงลักษณ์ มีทอง – นักวิจัยต้นแบบด้านการผลักดันนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์
อาจารย์จากสาขาวิชาฟิสิกส์ ผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานสะอาดจากวัสดุเหลือใช้ เช่น แกลบและขยะจากเซลล์แสงอาทิตย์ พร้อมทั้งได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย โดยได้แชร์ประสบการณ์ต่าง ๆ ผ่านหัวข้อ “Battery of Change: From Experiments to Enterprises” ตลอดการบรรยายได้เล่าถึงการเดินทางจากห้องปฏิบัติการสู่นวัตกรรมตลอดช่วงระยะเวลา 15 ปีที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้ฝากแง่คิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจกับผู้ฟัง คือ “Join the revolution to create a future where energy is abundant, affordable & sustainable one innovative step at a time”
ผศ. ดร.สุกัญญา เรืองสุวรรณ – อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตร
อาจารย์จากสาขาวิชาสถิติและวิทยาการข้อมูล ผู้ริเริ่มปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของยุคดิจิทัล และร่วมแชร์ไอเดียใหม่ ๆ ในการปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันโลกผ่านหัวข้อ “Overcoming Obstacles: A Successful OBE Curriculum Design Journey” ตลอดการบรรยายได้มุ่งเน้นถึงการเตรียมบัณฑิตให้พร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกยุคใหม่ และส่งต่อข้อคิดต่อการปรับปรุงหลักสูตร คือ “การปรับปรุงหลักสูตร ให้มีมาตรฐานช่วยเตรียม นักศึกษาสู่โลกยุคใหม่ ทุกการปรับปรุงคือการ ลงทุนในความสำเร็จของพวกเขาและของเรา”
รศ. ดร.วัฒนา พัฒนากูล – อาจารย์ผู้มุ่งมั่นพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะกับนักศึกษาในยุคที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจารย์จากสาขาวิชาชีววิทยา ผู้มากประสบการณ์ด้านการสอนที่สร้างแรงบันดาลใจ ได้ถ่ายทอดวิธีการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีผลกระทบเชิงบวกและกระตุ้นให้ผู้สอนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ร่วมแชร์ไอเดียใหม่ ๆ ในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนผ่านหัวข้อ “Teaching in the New Era: When the Good Old Days No Longer Work” และฝากข้อคิดด้านการสอนไว้ คือ “การสอนในยุคปัจจุบัน ไม่เหมือนในอดีต ผู้เรียนเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน อาจารย์ที่ดีจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาวิธีการสอน ของตนเองอยู่เสมอ”
รศ. ดร.นันทวัน ฤทธิ์เดช – อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ชุมชน
อาจารย์จากสาขาวิชาจุลชีววิทยา ผู้เชื่อมโยงงานวิจัยเข้ากับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม และมาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนผ่านหัวข้อ “Breaking the Lab Walls: Can Communities and Scientists Work Hand-in-Hand?” โครงการของที่หยิบยกมาเล่าช่วยเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน และฝากแง่คิดไว้ว่า “ทำงานเป็นทีม จิตสาธารณะ ใจบริการ พร้อมทำงานเพื่อชุมชน”
ผศ. ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวความตอนหนึ่งว่า “Factory Fusion เป็นครั้งแรกที่คณะวิทยาศาสตร์ มข. ของเราจัดขึ้น เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในด้านการเรียนของนักศึกษาและพัฒนาแนวคิดของบุคลากร ในมุมมองต่างๆไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านการวิจัยที่ผ่านกระบวนการเริ่มต้นจนถึงประสบความสำเร็จได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง การสร้างนวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ ให้สามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ การทำงานด้านการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้มีความทันสมัยต่อนักศึกษาในยุคปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้มีความน่าสนใจ ทำให้นักศึกษาสนใจในการเรียนรายวิชาต่างๆ และการบริการวิชาการ ถ่ายทอดงานวิจัยและองค์ความรู้สู่ชุมชน เพิ่มรายได้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ขอขอบคุณวิทยากรทั้ง 5 ท่าน ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ให้พวกเราฟังในวันนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ ผู้เข้าร่วมงาน จะสามารถเอาไปปรับใช้ในการทำงานของบุคลากเองและด้านการเรียนของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี”
ในช่วงท้ายของกิจกรรม ผศ. ดร.อังคณา บุญยืด เป็นตัวแทนมอบดอกไม้แสดงความยินดีแด่ ศ. ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ ในโอกาสที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ประจำปี 2568 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)
กิจกรรมนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของคณะวิทยาศาสตร์ มข. ในการสร้างวัฒนธรรมแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทั้งในด้านวิชาการและการอุทิศเพื่อสังคม