เริ่มแล้ว! มหกรรมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2567 ณ คณะวิทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันที่ 18 สิงหาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิด “งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2567” ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สิ่งแวดล้อมและสังคม BCG” (BCG : Bio – Circular Green Economy)”  ณ ห้องวิทยวิภาส 1 อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์
ผศ. ดร.อังคณา  บุญยืด
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานต่อประธาน โดยได้รับเกียรติจาก ผศ. ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหาญ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน  มีผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้บริหารคณะหน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักเรียนจากหลายสถาบัน ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าชมงาน

ผศ. ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานความตอนหนึ่งว่า “ในนามคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระดับภูมิภาค ประจำปีพุทธศักราช  2567  ดิฉันขอขอบคุณท่านรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เป็นอย่างสูง ที่ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานในวันนี้

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,  สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, หน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ได้ร่วมจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ มีกำหนดการจัดงานระหว่างวันที่  18 -20   สิงหาคม  2567  รวมเป็นเวลา 3 วัน  ภายใต้หัวข้อหลัก “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคม BCG” เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนัก และสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้มีความหลากหลาย เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน ประชาชน หรือผู้สนใจทั่วไป ได้สัมผัสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง อันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างจิตสำนึก กระตุ้นความสนใจการเรียนรู้ และปลูกฝังแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

วัตถุประสงค์หลักในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประกอบด้วย

  1. เพื่อเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
  2. เพื่อเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในฐานะทรงเป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”
  3. เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้า
    เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10)
  4. เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปเห็นความสําคัญของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
  5. เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย
  6. เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป มีความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้นและรู้จักการนําวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชีวิตประจําวัน
  7. เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสทํางานร่วมกัน และเป็นการสร้างความสามัคคีและบําเพ็ญประโยชน์แก่สังคมร่วมกัน

 

ภายในงานได้จัดให้มีกิจกรรมสำคัญหลายอย่าง   ได้แก่

– พิธีถวายพานพุ่มราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช (รัชกาลที่ 4) ในวันที่ 18 สิงหาคม 2567

– นิทรรศการเทิดพระเกียรติ และพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช (รัชกาลที่ 4) ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

– นิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”

– นิทรรศการขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
– นิทรรศการของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
– นิทรรศการของหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ
– นิทรรศการด้านการเรียนการสอน ผลงานวิจัย โครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนของคณะวิทยาศาสตร์
– นิทรรศการทางวิชาการของแต่ละสาขาวิชา

ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมจัดนิทรรศการทางวิชาการ และร่วมงาน ไม่น้อยกว่า 20 หน่วยงาน”

ต่อมาภายหลังการกล่าวรายงาน  ประธานในพิธี  ได้ให้เกียรติมอบประกาศเกียรติคุณให้กับหน่วยงานที่ร่วมจัดนิทรรศการและสนับสนุนการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2567

ผศ. ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหาญ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน กล่าวความตอนหนึ่งว่า “ผมรู้สึกปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  ส่วนภูมิภาค  ประจำปี  พุทธศักราช  2567 ในวันนี้    ซึ่งงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี    กระผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า  กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวง ที่จะดำเนินไปตลอดงานอันสำคัญนี้  จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้โดยสมบูรณ์กิจกรรมหนึ่งที่น่าปลื้มปิติยิ่ง คือ การถือปฏิบัติ ด้วยการระลึกถึงพระเดชานุภาพและพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระองค์ได้ทรงคำนวณทำนายการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช  2411 อันเป็นพระปรีชาชาญ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลก แซ่ซ้องสรรเสริญ  และเกิดเป็นความหวังว่า เราจะมีคนไทยที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท   จนเป็นที่ยกย่องแก่ชาวโลกเช่นกัน 

นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ  ที่มีประโยชน์ยิ่ง ตามที่ท่านคณบดีได้กล่าวรายงานไปแล้วนั้น  ผลพลอยได้ ที่สำคัญในการจัดงานครั้งนี้  เพื่อเป็นหนทางที่จะชักนำให้เยาวชน และบุคคลทั่วไป  เกิดแรงบันดาลใจใฝ่สัมฤทธิ์ในด้านวิทยาศาสตร์  ซึ่งนับได้ว่า การจัดงานในครั้งนี้  มีคุณประโยชน์ เกินแก่การประมาณเป็นอย่างยิ่ง  กระผมขอถือโอกาสนี้    แสดงความขอบคุณองค์กร  ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนในการจัดกิจกรรมอันอุดมประโยชน์ครั้งนี้เป็นอย่างสูง  พร้อมกันนั้น  กระผมขอขอบคุณคณะกรรมการดำเนินการจัดงานทุกท่านที่มีความอุตสาหะ มุ่งมั่น จนเกิดเป็นงานในวันนี้ขึ้นมา”

ต่อมาได้มีพิธีเปิด งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2567  โดย ผศ. ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหาญ ประธานในพิธี และ ผศ. ดร. อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยมาสคอต ประจำคณะวิทยาศาสตร์ น้อง”ฮักกัน” สัญลักษณ์ของดอกกาลพฤกษ์ ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น และน้อง “จำปาก้า”สัญลักษณ์ของดอกจำปา ดอกไม้ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมบนเวที ซึ่ง ทั้ง 2 ท่าน ได้ร่วมกันนำนิวเคลียสและอิเล็กตรอน เข้าประกบกับโครงสร้างของอะตอม ซึ่งเป็นการแสดงถึงการเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ อย่างเป็นทางการในวันนี้

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดแข่งขันต่าง ๆ ที่จัดเป็นประจำทุกปี  เช่น

– การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

– การแข่งขันวาดภาพความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการทางวิทยาศาสตร์

– การแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

– การประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ

– การประกวด  Science Show  ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

– การประกวดสื่อการสอนทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับครูระดับ มัธยมศึกษา

– การประกวดสื่อสารวิทยาศาสตร์

– การแข่งขันจรวดขวดน้ำ และ การแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถติดตามภาพบรรยากาศ ชมการแข่งขันประเภทต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี 2567  ได้ที่

เพจ สัปดาห์วิทยาศาสตร์ มข. Science Week KKU
Faculty of Science, Khon Kaen University
#Science Week KKU