วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ผศ. ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมงานครบรอบ 40 ปี ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) ภายใต้แนวคิด “การสร้างกำลังคน พสวท. เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยในพิธีเปิด รศ. ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้กล่าวรายงาน ต่อ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ภายในงานมีการบรรยายพิเศษโดย ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในหัวข้อ “ความท้าทายในการพัฒนาประเทศไทย บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”
“สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ได้เริ่มดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ พสวท. ตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2527 โดยเป็นโครงการร่วมกันระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันมีการรวมเป็น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สำหรับศึกษาวิจัย ประดิษฐ์ คิดค้น และเผยแพร่ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาไปจนถึงระดับปริญญาเอก ส่งเสริมการทำวิจัย และเพื่อผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพสูง เข้าปฎิบัติงานในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานราชการ และหน่วยงานต่างๆในกำกับของรัฐ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ประดิษฐ์ คิดค้นผลงานวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ และนอกเหนือจากการให้ทุนสนับสนุนแล้ว พสวท. ยังมีการฝึกทักษะ กระบวนการทางวิทยศาสตร์ ให้แก่นักเรียนทุนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านกระบวการทำโครงงานวิจัย ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญ ในการพัฒนาการเรียนรู้ เตรียมพร้อมที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่ดีต่อไปในอนาคต
ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ทุน พสวท. ได้บ่มเพาะ ได้พัฒนาผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและนวัตกร ซึ่งเป็นฐานกำลังสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับประเทศ ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เข้าปฎิบัติหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เรามีนักเรียนทุน พสวท. ที่กำลังศึกษาอยู่จำนวน 1,731 คน และผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วจำนวน 2,053 คน ปฎิบัติงานเป็นกำลังสำคัญทางด้านวิชาการและเป็นผู้บริหารในระดับสูงในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยของภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ บางส่วนได้มีส่วนร่วมก่อตั้งและพัฒนาองค์กร และหน่วยงานวิจัยสำคัญในประเทศ นอกจากนี้ ผู้สำเร็จการศึกษา ทุน พสวท. หลายท่านต่างมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ มีผลงานได้รับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรมากกว่า 200 เรื่อง และมีผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการมากกว่า 28,000 เรื่อง
สสวท.ได้ดำเนินการจัดงานครบรอบ 40 ปี ทุน พสวท. ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2567 โดยได้ดำเนินการจัดงานประชุมวิชาการ สำหรับนักเรียนทุน พสวท. ระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 DPSTCon2024 ร่วมกับสมาคมนักเรียนทุนโครงการ พสวท. ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้รับรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จากนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยชั้นนำของประเทศ พร้อมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆซึ่งประกอบด้วย นิทรรศการผลงาน การเสนอผลงานวิจัย จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน การบรรยายพิเศษ การเสวนาวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัยของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 800 คน“
โอกาสนี้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้เกียรติ มอบโล่เกียรติคุณผู้ทำประโยชน์แก่ สสวท.และโครงการ พสวท. โดยมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแด่ ศูนย์โรงเรียนและศูนย์มหาวิทยาลัย ทั้ง 10 ศูนย์ ที่เข้าร่วมดำเนินงานกับโครงการ พสวท. โดย ผศ.ดร. อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ นางพิชริน ทักษิณ รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารและงบประมาณ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย รับมอบในนามของศูนย์โรงเรียนและศูนย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และในงานมีการมอบเสื้อ DPST Hall of Fame ให้กับผู้ที่ได้รับการจารึกชื่อไว้ในหอเกียรติยศ พสวท. “DPST Hall of Fame 2563-2567” มีบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ มข.ที่ได้รับดังนี้
1. ศ. ดร.สาธิต แซ่จึง บัณฑิต พสวท. รุ่นที่ 8
2. ศ. ดร.สุปรีดิ์ พินิจสุนทร บัณฑิต พสวท. รุ่นที่ 12
3. ศ. ดร.วิทยา เงินแท้ บัณฑิต พสวท. รุ่นที่ 13