วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีปิดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 The 20th Thailand Chemistry Olympiad (TChO20) พร้อมประกาศผลและมอบรางวัลแก่นักเรียนผู้ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ รวมทั้งมอบเกียรติบัตรการเข้าร่วมกิจกรรม ของที่ระลึก และเกียรติบัตรจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แก่ผู้แทนศูนย์ สอวน. ณ ห้องวิทยวิภาส 1 อาคารวิทยวิภาส
รศ. ดร.ชนกพร เผ่าศิริ หัวหน้าสาขาวิชาเคมี ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน กล่าวรายงานสรุปการแข่งขันในภาพรวมว่า การจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2567 มีนักเรียนผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 100 คน เป็นนักเรียนผู้แทนศูนย์ สอวน. จากทั่วประเทศ 14 ศูนย์ จำนวน 96 คน และนักเรียนจาก สสวท. จำนวน 4 คน พร้อมด้วยอาจารย์ผู้แทนศูนย์จำนวน 32 คน และครูสังเกตการณ์ จำนวน 16 คน การแข่งขัน ประกอบด้วยการสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งกล่าวแสดงความชื่นชมนักเรียนทุกคนที่ได้เป็นผู้แทนศูนย์ สอวน. เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ขอให้นำประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับการศึกษาในอนาคต ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขัน ในโอกาสนี้ได้ขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนการจัดการแข่งขัน คณะกรรมการวิชาการ และคณะกรรมการจัดงานทุกฝ่ายที่ร่วมแรงร่วมใจทำให้การจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 ในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วง
ภายในงานมีพิธีมอบเกียรติบัตรการเข้าร่วมการแข่งขันและของที่ระลึกแก่ผู้แทนศูนย์ สอวน. โดย ผศ. ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พิธีมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติให้กับนักเรียนผู้เข้าร่วมการแข่งขันในโอกาสที่สหประชาชาติได้ประกาศให้ปี ค.ศ. 2022 เป็น “ปีสากลแห่งวิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย รศ. ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิธีมอบเกียรติบัตรเยาวชนเคมีแห่งประเทศไทย โดย ศ. ดร.วุฒิชัย พาราสุข นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ต่อมา ได้มีการประกาศผลและพิธีมอบรางวัลการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 ดังนี้
– รางวัลเหรียญทอง จำนวน 11 เหรียญ
– รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 19 เหรียญ และเกียรติบัตรเทียบเท่าเหรียญเงิน 1 รางวัล
– รางวัลเหรียญทองแดง 29 เหรียญ และเกียรติบัตรเทียบเท่าเหรียญทองแดง 2 รางวัล
– รางวัลคะแนนรวมสูงสุดประจำภูมิภาค ได้แก่ รางวัลคะแนนรวมสูงสุดภาคเหนือ รางวัลคะแนนรวมสูงสุดภาคใต้ รางวัลคะแนนรวมสูงสุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รางวัลคะแนนรวมสูงสุดภาคตะวันออก และรางวัลคะแนนรวมสูงสุดภาคตะวันตกและภาคกลาง
– รางวัลพิเศษ ได้แก่ รางวัลคะแนนปฏิบัติการสูงสุด รางวัลคะแนนทฤษฎีสูงสุดและรางวัลคะแนนรวมสูงสุด
โดยรางวัลคะแนนรวมสูงสุดประจำภูมิภาค รางวัลคะแนนทฤษฎีสูงสุดและรางวัลคะแนนรวมสูงสุด ได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ส่วนรางวัลคะแนนปฏิบัติการสูงสุด ได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์ ดร.ปรีชา-ประไพ อมาตยกุล
ต่อมา ว่าที่ร้อยเอก ดร.ภณัฐ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวแสดงความยินดีและต้อนรับนักเรียนเข้าอบรมค่าย สสวท. ความตอนหนึ่งว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีปิดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2567 นี้ ขั้นตอนหลังจากนี้ มูลนิธิ สอวน. จะจัดส่งรายชื่อนักเรียนที่มีสิทธิ์เข้ารับการอบรมเพื่อคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยมายัง สสวท. เพื่อให้ สสวท. ดำเนินการจัดอบรมนักเรียน แล้วคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้น ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดย สสวท. จะจัดการอบรมเตรียมความพร้อมนักเรียนอย่างเข้มข้นเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว”
ในช่วงท้าย ได้มีพิธีส่งมอบธงเจ้าภาพการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21 ให้กับศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดย ผศ. ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบธงเจ้าภาพการจัดการแข่งขันแก่ ผศ. ดร.มะยูโซ๊ะ กูโน หัวหน้าภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ต่อมา ผศ. ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวขอบคุณและกล่าวปิดการแข่งขัน ซึ่งในการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 20 ตลอดระยะเวลา 5 วัน ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่นักเรียนผู้แทนศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ ได้แสดงความรู้ความสามารถ และศักยภาพทางวิชาการทั้งด้านทฤษฎีและทักษะด้านปฏิบัติ พร้อมกล่าวชื่นชมนักเรียนทุกคนที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติในครั้งนี้ และแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ได้รับรางวัลทุกคน พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาเคมีของ สอวน. ที่ทำงานหนักในการพิจารณาคัดเลือกข้อสอบสำหรับใช้ในการแข่งขัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันทุกฝ่าย สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุนการแข่งขัน มีส่วนร่วมทำให้การจัดการแข่งขันครั้งนี้สำเร็จลุล่วง