วันที่ 11 ต.ค. 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ ควอนตัมดอท : การค้นพบความมหัศจรรย์และงานวิจัยด้านเซนเซอร์ทางเคมีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ห้องประชุมวิทยวิภาส 1 อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ บรรยายโดย ศ. ดร.วิทยา เงินแท้ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี และร่วมเสวนาโดย รศ. ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ อาจารย์ประจำหลักสูตรวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี สาขาวิชาฟิสิกส์ โดยมีคณาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปร่วมรับฟังการเสวนาพิเศษครั้งนี้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ ณ ห้องประชุมวิทยวิภาส 1 จำนวน 170 คน และผ่านช่องทาง Zoom Meeting จำนวน 140 คน
สำหรับการจัดเสวนาพิเศษครั้งนี้เป็นการเสวนาเกี่ยวกับ “ควอนตัมดอท” ซึ่งเป็นเป็นวัสดุนาโนที่ขนาดเล็กแต่มีสมบัติที่โดดเด่น และมีการมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2023 แด่นักวิทยาศาสตร์ 3 ท่าน ที่ร่วมค้นพบและสังเคราะห์ควอนตัมดอท ได้แก่ Moungi G. Bawendi (Massachusetts Institute of Technology (MIT), USA), Louis E. Brus (Columbia University, USA) และ Alexei I. Ekimov (Nanocrystals Technology Inc., USA) ทำให้ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาครั้งนี้ได้รู้จักควอนตัมดอท ซึ่งเป็นวัสดุที่มีขนาดในระดับนาโนเมตร มีสมบัติพิเศษที่สามารถดูดกลืนและเรืองแสงได้แตกต่างกันเมื่อมีขนาดเปลี่ยนไป จากสมบัติที่โดดเด่นนี้ทำให้ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ควอนตัมดอทอย่างหลากหลาย เช่น จอแสดงภาพทีวีรุ่น QLED (Quantum Dot Light Emitting Diode) เซนเซอร์ทางเคมีสำหรับตรวจวัดสารที่มีปริมาณน้อยมาก ควอนตัมดอทโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง รวมทั้งการประยุกต์ควอนตัมดอทในทางการแพทย์สำหรับการสร้างภาพทางชีววิทยา (Biological immaging) จากสมบัติที่โดดเด่นและสามารถประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย “ควอนตัมดอท” จึงเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ของนาโนเทคโนโลยี เพื่อเป็นการยกย่องนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบและสังเคราะห์ควอนตัมดอท จึงได้มีการมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี ค.ศ. 2023 แด่นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ท่าน จากการจัดเสวนาครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ฟังเป็นจำนวนมาก และทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้รู้จักสมบัติและการประยุกต์ใช้ควอนตัมดอทในเทคโนโลยีต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
ข่าว/รศ. ดร.ธีระพงษ์ พวงมะลิ