วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 นักเรียน นักศึกษานับพันชีวิต เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจณาภิเษก (หอกาญ มข.) และศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวันแรก
กิจกรรมในช่วงเช้า นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และรองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขึ้นกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน โดย รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย ระบุว่า เป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาผลงานวิชาการ งานวิจัย ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
“การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นการช่วยเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ได้สัมผัสและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จากประสบการณ์จริง อันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างจิตสำนึก กระตุ้นความสนใจการเรียนรู้ และปลูกฝังแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถอย่างยั่งยืน”
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับเครือข่าย จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนัก และสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้มีความหลากหลาย ซึ่งปีนี้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์ในยุคแห่งการสร้างสรรค์ (Science in Creative Generation)”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธี กล่าวว่า ในปีนี้การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค มีความยิ่งใหญ่ มีหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมจัดนิทรรศการทางวิชาการอย่างมากมาย
กิจกรรมหนึ่งที่น่าปลื้มปีติยิ่ง คือ การถือปฏิบัติ ด้วยการระลึกถึงพระเดชานุภาพและพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระองค์ได้ทรงคำนวณทำนายการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 อันเป็นพระปรีชาชาญ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลก แซ่ซ้องสรรเสริญ และเกิดเป็นความหวังว่า เราจะมีคนไทยที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท จนเป็นที่ยกย่องแก่ชาวโลกเช่นกัน
นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ด้วย
ภายในงานระหว่างวันที่ 16 – 18 สิงหาคม 2566 มีกิจกรรมทั้งการประกวดและแข่งขันทางวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ การแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ การประกวดสื่อการสอนทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ การประกวดการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) ในระดับประถมต้นและมัธยมต้น การแข่งขันจรวดขวดน้ำ การแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ โดยมีโรงเรียนต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมการประกวดและแข่งขันกว่า 250 โรงเรียน