พิธีเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 13 TAO13

เผยแพร่เมื่อ: 6 พ.ค. 2559 ข่าวประชาสัมพันธ์/ข่าวทั่วไป



             เมื่อวานนี้(5พฤษภาคม2559)  เวลา  13.00-16.00  น.  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จัดพิธี เปิดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 13  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10  พฤษภาคม  2559  ณ  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น     ณ  ห้อง  3201  อาคารวิทยาศาสตร์  03  มี  รองศาสตราจารย์เย็นใจ สมวิเชียร   กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิ สอวน. รองศาสตราจารย์บุญรักษา  สุนทรธรรม   ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ   ผศ.ดร. เขมิกา  ลมไธสง  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ  อ.ดร. ชิณณวรรธณ์  ตั้งกาญจนวงศ์  รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ร่วมพิธีเปิด  โดยมี  ผศ. ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวต้อนรับคณะครูและนักเรียนตัวแทนศูนย์สอวน. ต่างๆที่เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 400 คน ว่า  “ในนามของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ท่าน รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ โดยทางมูลนิธิ สอวน. ได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้ขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 พฤษภาคม 2559   มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาของภูมิภาค ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง จึงมีชื่อเรียกว่า “มอดินแดง” มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตสาขาต่าง ๆ สำหรับคณะวิทยาศาสตร์ นอกจากการผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีส่วนในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และส่งเสริมให้อาจารย์สร้างสรรค์งานวิจัยในศาสตร์หลายแขนง รวมทั้งด้านดาราศาสตร์ด้วย นอกจากมหาวิทยาลัยจะมีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการบริการทางวิชาการ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์ยังเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ให้แก่ครูที่สอนในระดับมัธยมศึกษาในรูปแบบของการจัดอบรมภาคฤดูร้อนอยู่เสมอ รวมทั้งจัดทำหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาสำหรับครูสาขาต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และวุฒิให้แก่ครูประจำการระดับมัธยมศึกษา และทางมหาวิทยาลัยยังให้ความร่วมมือในการจัดทำแผนพัฒนาระดับจังหวัด  ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณาจารย์ คณะกรรมการ และนักเรียนทุกคนที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันจากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ จะได้ร่วมกิจกรรมแข่งขัน ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างดีที่สุด กระผมขอขอบคุณ รองเลขาธิการมูลนิธิ สอวน. ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดในวันนี้ กระผมมีความยินดีที่ได้ต้อนรับทุกท่าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการร่วมกิจกรรมการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 13 และขอให้การมาเยือนของทุกท่านในครั้งนี้ มีแต่ความสุข รอยยิ้ม และความประทับใจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นคงมีโอกาสได้ต้อนรับทุกท่านในโอกาสต่อ ๆ ไป”

                ผศ.ดร. สมเกียรติ  ศรีจารนัย  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์กล่าวรายงานต่อประธานว่า “ตามที่มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มูลนิธิ สอวน. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านดาราศาสตร์ของเยาวชน มูลนิธิ สอวน. จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ สอวน. ทั้ง 11 ศูนย์ทั่วประเทศ ดำเนินการคัดเลือกและอบรมเข้มวิชาดาศาสตร์ให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างมาก สำหรับในปีนี้การคัดเลือกนักเรียนผู้มีความสามารถด้านดาราศาสตร์เป็นผู้แทนเยาวชนของประเทศไปแข่งขันระดับสากล มูลนิธิ สอวน. ได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 13 และใช้แนวทางการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศเป็นต้นแบบ โดยจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 5-10 พฤษภาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากมูลนิธิ สอวน. ในครั้งนี้

               การแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ผู้แทนนักเรียนและอาจารย์จากศูนย์ สอวน. ทั้ง 11 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศูนย์ สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศูนย์ สอวน. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ศูนย์ สอวน. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ศูนย์ สอวน. โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ และ ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย 124 คน ครูสังเกตการณ์ 27 คน และอาจารย์ผู้แทนศูนย์ 30 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนกลาง กรรมการดำเนินงาน เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 346 คน

               ในการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาตินั้น ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนจะต้องทำข้อสอบภาคทฤษฎี ปฏิบัติการ และสังเกตการณ์ เพื่อคัดเลือกเยาวชนที่มีความพร้อมด้านวิชาการสาขาดาราศาสตร์  เข้าแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับนานาชาติต่อไป”

             รศ.ดร. พินิติ  รตะนานุกูล  รองเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมป์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ได้กล่าวว่า “ในนามมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมป์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน กระผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 13 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันนี้

             ดาราศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่ง ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันในสังคมโลกปัจจุบัน และในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีการค้นพบทางดาราศาสตร์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเห็นความสำคัญของการศึกษาด้านดาราศาสตร์ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational waves) ซึ่งถูกทำนายทางทฤษฎีโดยไอน์สไตน์เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว การค้นพบคลื่นความโน้มซึ่งมีกำลังอ่อนมากในครั้งนี้เป็นความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ และการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงได้โดยตรงครั้งนี้จะเป็นหลักหมุดสำคัญทางวิทยาศาสตร์และอาจทำให้เกิดการค้นพบอะไรใหม่ ๆ ตามมาอีกมากมาย

                เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์แบบก้าวกระโดด แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจัดลำดับความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในลำดับท้าย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการวางนโยบายและแผนในการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการอบรมครูวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง การสอนเน้นเนื้อหามากกว่าเน้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนไทยจึงมีจุดอ่อนในการวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

                มูลนิธิ สอวน. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับมาตรฐานการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาให้เทียบเท่าสากล โดยมุ่งเน้นไปที่นักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับไม่เกินมัธยมศึกษาปีที่ 5 มาเข้าค่ายอบรมความรู้ในแต่ละสาขาวิชาที่นักเรียนถนัด โดยได้รับความอนุเคราะห์จากคณาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และมีประสบการณ์สูง เพื่อให้ความสามารถพิเศษในตัวนักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ การจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ นับเป็นการคัดสรรและส่งเสริมพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านดาราศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแนวทางการสอนให้เป็นมาตรฐานสากล อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาการเรียนการสอนแบบมุ่งเน้นให้นักเรียนมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ลุ่มลึก และแก้ไขปัญหาอย่างมีหลักการและเป็นระบบอีกด้วย ในการฝึกอบรมนักเรียนของมูลนิธิ สอวน. องค์ประธานมูลนิธิ สอวน. ทรงเน้นเสมอว่าเป้าหมายของการฝึกอบรม คือ ทำให้นักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมมีทั้งความรู้ความสามารถ และมีคุณธรรมพร้อม ๆ กันไป

                ในโอกาสนี้ผมขอขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะกรรมการจัดงาน คณาจารย์ บุคลากรของศูนย์ สอวน. ทุกศูนย์ และหน่วยงานอุปถัมภ์ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้เตรียมการด้านวิชาการ และร่วมจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 13 และขออวยพรให้การดำเนินการแข่งขันลุล่วงไปด้วยดีตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดทุกประการ

                ลำดับต่อมา  ได้มีพิธีแนะนำตัวตัวแทนศูนย์ สอวน. ทั้ง 11 ศูนย์ และการปฎิญาณตนของตัวแทนนักเรียน   ตัวแทนคณะกรรมการ  โอกาสนี้  ได้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ  “คลื่นความโน้มถ่วง : หน้าต่างบานใหม่สู่จักรวาล" โดย  ดร.อุเทน  แสวงวิทย์  นักวิจัยสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  ได้กล่าวว่า  คลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational Waves) ถูกตรวจจับโดยตรงและวัดได้เป็นครั้งแรก 100 ปี หลังจากที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ทำนายไว้จากการแก้สมการทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปที่เขาคิดค้นขึ้นมา หากแต่ว่าสัญญาณของคลื่นความโน้มถ่วงมีขนาดเล็กมาก จนเขาเองก็ไม่คิดว่ามนุษย์จะสามารถตรวจจับได้ ความสำเร็จของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นหลังจากการเพียรพยายามมาหลายทศวรรษในการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำและไวต่อสัญญาณ จนกระทั่งเมื่อเดือนกันยายน 2015 การทดลอง LIGO สามารถตรวจจับ คลื่นความโน้มถ่วงซึ่งถูกปลดปล่อยจากการรวมตัวกันของ 2 หลุมดำ ที่อยู่ห่างจากเราออกไปกว่าพันล้านปีแสง

               ผลสำเร็จของการทดลอง LIGO ได้แสดงให้เห็นถึงหนึ่งในประโยชน์ของการใช้คลื่นโน้มถ่วงในการศึกษา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ การค้นพบระบบหลุมดำคู่ ซึ่งจะไม่มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าให้ตรวจวัดได้ หากไม่มีสสารอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ยิ่งไปกว่านั้นจากคุณสมบัติที่คลื่นความโน้มถ่วงสามารถเคลื่อนที่ผ่านสสาร ในจักรวาลได้โดยไม่ถูกบดบังอย่างเช่นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ได้แก่ แสงที่ตามองเห็น คลื่นวิทยุ รังสีอินฟราเรด รังสีอัลตราไวโอเล็ต รังสีเอ็กซ์เรย์ รังสีแกมมา) ที่ใช้ในดาราศาสตร์อย่างแพร่หลาย ทำให้เราสามารถศึกษา ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่อยู่ห่างไกลออกไปได้มาก รวมไปถึงความหวังที่จะใช้คลื่นความโน้มถ่วงศึกษา จักรวาลในยุคเริ่มต้น หลังจากการเกิดบิกแบง (Big Bang) ไม่ถึงวินาที ซึ่งในปัจจุบันการศึกษาจักรวาลโดยใช้ รังสีไมโครเวฟพื้นหลังสามารถย้อนกลับไปได้แค่ประมาณ 400,000 ปีหลังจากบิกแบงเท่านั้น”

               นอกจากการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกวิชาการแล้ว น้องๆนักเรียน  ยังจะได้เข้าร่วมกิจกรรมสัมพันธ์  กิจกรรมทัศนศึกษา  ณ  พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์สิรินธร  จังหวัดกาฬสินธุ์  ในวันจันทร์ที่  9  พฤษภาคม  2559    และประกาศผลการแข่งขัน  มอบเหรียญรางวัลและพิธีปิดการแข่งขัน  ในวันอังคารที่  10  พฤษภาคม  2559  ณ  ห้อง  3201  อาคารวิทยาศาสตร์ 03  เวลา  09.00-12.00  น.