มข. เข้าหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน เพื่อร่วมมือทำวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ชนิดอะลูมิเนียมไอออนแบตเตอรี่ (Al-ion battery)

เผยแพร่เมื่อ: 21 มิ.ย. 2561 ข่าววิจัย



เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ได้นำคณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งประกอบไปด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. วิทยา อมรกิจบำรุง  ผู้ช่วยศาสตราจารย์   ดร. นงลักษณ์ มีทอง  อาจารย์ ดร. วิรัตน์ เจริญบุญ     อาจารย์ ดร. รัฐการ เย็นเสนาะ    และ รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร์ พิมานแพง อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ หนึ่งในทีมนักวิจัยร่วมของศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ เข้าหารือกับ      ดร. ขัติยา ไกรกาญจน์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมและนักธุรกิจภาคเอกชน  เพื่อร่วมมือทำวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ชนิดอะลูมิเนียมไอออนแบตเตอรี่ (Al-ion battery)  ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีศักยภาพความพร้อมทางด้านบุคลากรที่มีความสามารถและศักยภาพสูง มีองค์ความรู้ที่เพียงพอที่จะดำเนินการอยู่แล้ว อีกทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ อยู่ในระหว่างการขอทุนสนับสนุนการวิจัย จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ     สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ   (สวทช.) ในระยะที่ 3 ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2564   โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม พัฒนาบุคลากรทางด้านวัสดุเพื่อพลังงานที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ให้กับประเทศ  สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในประเทศ ตลอดจนความร่วมมือในระดับนานาชาติ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จึงได้มีการเข้าไปหารือความเป็นไปได้ในการร่วมมือการทำวิจัยด้านแบตเตอรี่ฯ ชนิดดังกล่าว โดยภาคเอกชนได้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการหารือในครั้งนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแบตเตอรี่ที่มีข้อดีหลายประการ เช่น ธาตุอะลูมิเนียมซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักมีจำนวนมากบนโลก และมีราคาที่ต่ำ ดังนั้นแบตเตอรี่ที่ผลิตได้จึงมีราคาถูก นอกจากนี้แล้วแบตเตอรี่ชนิดนี้มีความปลอดภัยสูงไม่เกิดการระเบิดและไม่ติดไฟ สามารถอัดประจุได้อย่างรวดเร็วในระดับไม่กี่วินาที มีความเสถียรสูงมาก สามารถอัดและคายประจุได้มากกว่า 7,500 รอบ ให้กำลังไฟฟ้าสูงประมาณ 3,000 W/kg ซึ่งเทียบเท่ากับตัวเก็บประจุยิ่งยวด และยังสามารถให้ค่าความหนาแน่นพลังงานในระดับ 40 Wh/kg (M. -C. Lin et al., 2015) ด้วยข้อดีทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ ทำให้แบตเตอรี่ชนิด Al-ion มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในอนาคตและเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้

 

 

ภาพ/ข่าว :  ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น